ข่าวเด่น » น.ศ.ปลูกเมล่อนแลกค่าเทอม

น.ศ.ปลูกเมล่อนแลกค่าเทอม

11 สิงหาคม 2020
1084   0

Social Share

ดร.ถนัด บุญชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำวิทยาเขตแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นทั้งในมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงภารกิจ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมุ่งพัฒนาท้องถิ่นตามเป้าหมายการพัฒนา 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ซึ่งในทุก ๆ กิจกรรมของการพัฒนาท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญต่อการบูรณาการร่วมกับการจัดการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาและคณาจารย์สามารถดำรงชีวิตในสังคมยุค NEW NORMAL ได้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานศาสตร์พระราชา ภายใต้ “โครงการศูนย์เรียนรู้ชีววิถีเพื่อชีวิตพอเพียงอย่างยั่งยืน” และเล็งเห็นว่าช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ครอบครัวและนักศึกษาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้เล็งเห็นการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ “เมล่อน” เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการ “โรงเรือนต้นแบบเกษตรอินทรีย์และพืชเศรษฐกิจใหม่” ที่มีเป้าหมายจะทำการต่อยอดขยายไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ด้วยงบประมาณ พ.ศ. 2563 จากความร่วมมือของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร มีคณะกรรมการขับเคลื่อนภายใต้การกำกับดูแลของ ผศ.เกษม กุณาศรี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในฐานะประธานกรรมการ นายเอกลักษณ์ ทองปัน กรรมการและเลขานุการ และนักศึกษาสาขาวิชาการประถมศึกษา ร่วมกันทำงานตั้งแต่การสร้างโรงเรือน การวางระบบ การเพาะเมล็ด การปลูก และการดูแล นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้มอบหมายให้ นายพยุงศักดิ์ สิทธิลภ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน มาให้คำแนะนำวิธีการปลูกและการดูแลอย่างใกล้ชิดจนประสบความสำเร็จในที่สุด สามารถเก็บผลผลิตรอบปฐมฤกษ์ “เมล่อนระดับพรีเมี่ยม” ได้ถึง 152 ลูก ซึ่งผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร ของมหาวิทยาลัยฯ ได้ช่วยกันอุดหนุนในราคาพิเศษ ลูกละ 99 บาท

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำวิทยาเขตแม่ฮ่องสอน กล่าวในตอนท้ายว่า การปลูกเมล่อนในโรงเรือนต้นแบบเกษตรอินทรีย์และพืชเศรษฐกิจใหม่ของวิทยาเขตแม่ฮ่องสอน นับเป็นแห่งที่ 2 ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ทำได้สำเร็จ โดยแห่งแรกคือ โรงเรือนแปลงเกษตรทดลองของสำนักเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายในพื้นที่ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) ซึ่งการปลูกเมล่อน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีประมาณ 3 – 4 แห่งเท่านั้น นับได้ว่าการดำเนินโครงการครั้งนี้เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน นำโดยอาจารย์วินัย ไชยวงค์ญาติ คณบดีวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ พริบไหว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น อาจารย์ ดร.ณัฏฐพร จักรวิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ชีววิถีเพื่อชีวิตพอเพียง คณะทำงานโครงการฯ และประชาคมวิทยาเขตแม่ฮ่องสอนที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินการโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะขยายโครงการสู่ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังจะเป็นต้นแบบสำหรับการดำเนินการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม (สะลวง-ขี้เหล็ก) อีกด้วย

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกษม กุณาศรี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า คณะทำงานมีความตั้งใจอย่างมากกับโครงการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายหลักคือให้นักศึกษาที่มาเรียนที่วิทยาเขตแม่ฮ่องสอนมีรายได้ระหว่างเรียนจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ “เมล่อนระดับพรีเมี่ยม” ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำการทดลองหลายขั้นตอน ลงมือปฏิบัติ และนำความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดมาประยุกต์ใช้จนเกิดผลสำเร็จ