ข่าวเด่น » ชมสองปรากฎการณ์ในวันเดียว สุริยุปราคา-ครีษมายัน

ชมสองปรากฎการณ์ในวันเดียว สุริยุปราคา-ครีษมายัน

21 มิถุนายน 2020
502   0

Social Share

 

วันนี้ 21 มิ.ย.63 ได้เกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” เหนือฟ้าเมืองไทย ช่วงเวลาประมาณ 13.00 – 16.10 น. สังเกตได้ทั่วประเทศ ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น. และวันนี้ยังตรงกับ “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05.51 น. ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที ส่งผลให้เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

 

ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการจัดกิจกรรมชม “สุริยุปราคา” ในวัน “ครีษมายัน” ซึ่งถือว่าเป็นวันเดียวที่เกิด 2 ปรากฏขึ้น โดยมีประชาชนเดินทางเข้ามารัรบชมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพลาดชมสุริยุปราคา ในปีนี้ไป จะต้องรออีก 7 ปี ถึงจะได้ชม แต่หากจะให้ปรากฏการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันอีกครั้ง อาจจะต้องรออีก 19 ปี ซึ่งบรรยากาศที่ สดร.ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการชมสุริยุปราคา และกล้องดูดาว กล้องโทรทรรศน์ ไว้ให้กับประชาชน พร้อมกับจัดนิทรรศการให้ความรู้กับเด็กนักเรียน เยาวชน และประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย

 

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา มาแล้วมากมายหลายครั้ง นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา ได้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ข้อมูลแม่นยำเป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ และอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าศึกษาติดตาม เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้องอาศัยวิจารณญาณในการรับรู้ จึงขอให้เปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง

 

ขอบคุณภาพ-สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)