ผอ.สำนักก่อสร้างชลประทาน กดระเบิดอุโมงค์ส่งน้ำให้ทะลุถึงกันได้แล้ว เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เชียงใหม่ – ลำพูน
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 23 ต.ค. 62 ที่บริเวณหน้าอุโมงค์ส่งน้ำหน้าประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 หรือ ผสญ.1 เป็นประธานกดตัวจุดระเบิดการก่อสร้างอุโมงค์แบบขุดเจาะระเบิด ช่วงที่ 1 ประตูระบายน้ำแม่ตะมานถึงอุโมงค์เข้า-ออกที่ 1 เพื่อเปิดให้อุโมงค์ที่ขุดเจาะทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ในช่วงแรกของสัญญาที่ 1 ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเกิดจากความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการแก้ไขปัญหาด้านภัยแล้ง ภาพรวมของการก่อสร้างที่โครงการปัจจุบันนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปราว 40 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ถือเป็นความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในการที่อุโมงค์ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ ประตูระบายน้ำแม่ตะมานไปถึงอุโมงค์เข้า-ออกหมายเลข 1 (Adit.1) ซึ่งเป็นการก่อสร้างโดยการขุดเจาะแบบระเบิด หรือ Drilling & Blasting : D&B ความยาวอุโมงค์ในช่วงนี้ราว 3.5 กิโลเมตร ได้เชื่อมถึงกันแล้ว จึงได้ทำการกดระเบิดในช่วงสุดท้ายเพื่อให้อุโมงค์ทะลุ ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างอื่น หลังจากนี้ในการดำเนินการในส่วนของสัญญานี้จะมีการเร่งรัดการทำงานในขั้นตอนที่ต้องทำต่อๆ ไป
นายโกศล คงแดง ผู้จัดการโครงการฯ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้รับผิดชอบในส่วนสัญญาก่อสร้างช่วงที่ 1 หรือสัญญาที่ 1 ระยะทางก่อสร้างอุโมงค์ราว 13.6 กิโลเมตร โดยงานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ใช้วิธีการขุดเจาะแบบระเบิด หรือ Drilling & Blasting : D&B และการขุดด้วยหัวเจาะ TBM ในวันนี้ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องขุดเจาะและระเบิด ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ในวันนี้ทั้ง 2 ฝั่งได้เจาะมาทะลุกัน โดยเจาะเข้าทางฝั่ง ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน และเจาะจากทางฝั่งอุโมงค์เข้า-ออกหมายเลข 1 โดยระยะทางฝั่งประตูระบายน้ำ อยู่ที่ 1+763 และระยะทางฝั่งอุโมงค์เข้า-ออกหมายเลข 1 อยู่ที่ 1+765 ซึ่งเหลือระยะอยู่ที่ 2 เมตร อุโมงค์ก็จะทะลุหากัน ในวันนี้จึงได้มีการกดตัวจุดระเบิด เพื่อให้ทั้งสองเส้นทางทะลุหากันได้สำเร็จ
นายคงศักดิ์ วงศ์คำ วิศวกรผู้ควบคุมงาน คณะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมางานขุดเจาะแบบระเบิดพบปัญหาใหญ่ 2 ครั้ง คือ การเจาะไปเจอสายน้ำในโพรงถ้ำที่มีปริมาณมากถึง 50,000 ลูกบาศก์เมตร ได้มีการเสริมเครื่องปั้มน้ำเพื่อสูบน้ำออกแล้วทำการแก้โขโดยใช้ซีเมนต์เก้าส์อุดรอยรั่วก็แก้ไขได้สำเร็จ อีกครั้งเป็นการเจอหินที่ไม่มีคุณภาพเป็นระยะทางกว่า 100 เมตร ทำการแก้ไขตามที่แบบกำหนดไว้ก็สำเร็จด้วยดี จุดนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหินที่ไม่มีคุณภาพอาจร่วงและเป็นอันตรายต่อพนักงานที่เข้าไปทำงานได้ อีกปัญหาที่พบในช่วงการขุดเจาะโดยหัวเจาะ TBM ซึ่งพบโพรงถ้ำขนาดใหญ่ ก็ได้มีการแก้ไขและเป็นไปได้ด้วยดีเช่นกัน