ข่าวเด่น » คนเมืองสะอื้นอาหารหลักข้าวเหนียวนึ่งราคาพุง กก.ละ 50 จากเดิมแค่ 30 บาท จำใจต้องซื้อกิน

คนเมืองสะอื้นอาหารหลักข้าวเหนียวนึ่งราคาพุง กก.ละ 50 จากเดิมแค่ 30 บาท จำใจต้องซื้อกิน

15 สิงหาคม 2019
2552   0

Social Share

คนเมืองสะอื้นอาหารหลักข้าวเหนียวนึ่งราคาพุง กก.ละ 50 จากเดิมแค่ 30 บาท จำใจต้องซื้อกิน ด้านพาณิชย์เชียงใหม่โบ้ยไม่ควบคุมหวั่นพ่อค้าคนกลางกักตุน ชี้สาเหตุเพราะอากาศแล้งทำนาได้น้อยข้าวขาดตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตลาดพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ หลายแห่งพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงผู้บริโภคเริ่มมีเสียงบ่นเนื่องจากราคาข้าวเหนียวต้นทุนสูงขึ้นเมื่อนำมาขายให้ลูกค้าจำเป็นต้องปรับราคา ต่อมาผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลดังกล่าว ก็พบว่า ร้านค้าขายข้าวเหนียวนึ่งแต่ละแห่งจะจำหน่ายราคาไม่เท่ากัน ตั้งแต่ราคา 32 – 50 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งคุณภาพข้าวและการผสมข้าว เพื่อนำมานึ่งขายให้กับลูกค้าก็จะแตกต่างกัน ขณะที่ ร้านจำหน่ายสาร ติดป้ายประกาศไว้ ประเภท ข้าวเหนียว “เขี้ยวงู” หรือ กข.6 จำหน่ายราคาลิตรละ 35 บาท กิโลกรัมละ 44 บาท ข้าวเหนียวสันป่าตอง ลิตรละ 33 บาท กิโลกรัมละ 49 บาท

จากการสอบถาม นางจันทร์ฉาย ปงลังกา อายุ 60 ปี แม่ค้าจำหน่ายข้าวในตลาดประตูเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนจำหน่ายทั้งข้าวเหนียวนึ่งและข้าวจ้าวหุง ซึ่งเมื่อก่อนเคยขายต่ำสุดกิโลกรัมละ 30 บาท ต่อมาราคาปรับขึ้นเป็น 40 บาท ซึ่งก็คงตัวมานานแล้ว แต่ตอนนี้ไม่สามารถขายได้ราคานี้แล้ว เพราะข้าวสารแพงขึ้นมาก จำเป็นต้องขายในกิโลละ 50 บาท เนื่องจากต้นทุนสูง ทั้งค่าแก๊ส ค่าจ้างคนงาน และต้นทุนจากการซื้อข้าวสาร ก็คิดว่าสาเหตุมาจากเรื่องของภัยแล้ง และข้าวใหม่ยังไม่ออก แต่ถึงแม้ข้าวที่ปลูกใหม่ออกแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าราคาจะปรับลงหรือไม่ ก็ต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไป

นางธัญรัตน์ ศรีศาสตร์ อายุ 48 ปี แม่ค้าจำหน่ายข้าวเหนียวหมูทอด หมูเส้นฝอย ที่ตลาดประตูก้อม เปิดเผยว่า ตนเปิดร้านมาหลายสิบปีแล้ว ราคาข้าวจากเดิมเคยซื้อกระสอบจำนวน 45 กิโลกรัม เพียง 700 – 800 บาท ต่อมาราคาก็ปรับขึ้น จาก 1,200 – 1,500 บาท จนถึงขณะนี้ราคาปรับขึ้นเป็นกระสอบ 2,050 บาท ซึ่งทางโรงสีจะมีการปรับขึ้นราคาอีก

ร้านตนเคยขายข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท ต้องปรับราคาเป็น ห่อเล็ก ห่อละ 10 บาท และขายจากเดิมกิโลละ 40 บาท ปรับเป็น 45 บาท บางร้านราคาสูงถึง 50 บาท ก็มี ซึ่งส่วนหนึ่งตนเข้าใจว่า ปัญหาเกิดมาจากภัยแล้ง และโรงสีบางแห่งอาจจะกักตุนไว้เพื่อขึ้นราคา เพราะข้าวช่วงนี้เป็นช่วงที่มีน้อย ข้าวใหม่ก็กำลังปลูก แต่หากข้าวใหม่ออกมาราคาอาจจะถูกลง ก็คงต้องรอดูสถานการณ์ข้าวไปก่อน และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมหรือไปสอบถามโรงสีข้าวด้วยว่า ทำไมข้าวถึงแพง เพราะไม่ได้รับผลกระทบแค่พ่อค้าแม่ค้า แต่ได้รับผลกระทบถึงคนซื้อด้วย ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

ด้านผู้บริโภค ก็บอกว่า ข้าวเหนียวนึ่งขึ้นราคา แต่จำเป็นต้องซื้อ จากเดิมเคยซื้อห่อเล็ก ห่อละ 5 บาท ตอนนี้ร้านไม่ขายแล้ว ขายเริ่มต้นก็ต้องซื้อ 10 บาท ต้องเพิ่มเงินซื้อข้าว แต่รายได้ยังเท่าเดิม หากซื้อไปบริโภคในครอบครัว ก็ต้องเสียเงินเพิ่ม ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ และดูแลเรื่องของราคาข้าวด้วย เพราะหากราคาข้าวแพง ก็กระทบทั้งคนจำหน่ายและคนซื้อ

นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวเรื่องราคาข้าวเปลือก (เหนียว) มีราคาสูงขึ้นถึงกระสอบละ 2,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ราคาขายส่งยังอยู่ที่ 1,500 – 1,600 บาท แต่ที่ราคาบางแห่งบอกขึ้นสูง เนื่องจากกว่าจะถึงผู้บริโภค ต้องผ่านคนกลางหลายคน ยิ่งผ่านคนกลางมาก และไม่ได้ซื้อราคาส่งจากโรงสีข้าว ก็จะมีราคาแพงขึ้น

ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงปลายปี ที่ข้าวเก่ากำลังจะหมด และข้าวใหม่กำลังปลูก ที่รู้จักกันว่า ปลูกวันแม่เกี่ยววันพ่อ ซึ่งข้าวเหนียว ฤดูกาลปลูกข้าวนาปรังในภาคเหนือ จะปลูกได้ปีละครั้ง แต่บางพื้นที่ก็มีการปลูกเพิ่ม แต่ก็จำนวนไม่มาก ส่วนภาคอีสาน ก็มีการปลูกแค่ปีละครั้ง ไม่เหมือนข้าวจ้าว ที่ปลูกปีละ 2 – 3 ครั้ง

ขณะเดียวกันในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาเรื่องของภัยแล้ง มีการควบคุมเรื่องของการใช้น้ำ ควบคุมพื้นที่การปลูก โดยเน้นให้ปลูกในพื้นที่ชลประทานมากกว่าปลูกนอกเขตชลประทาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเกษตร เนื่องจากการปลูกข้าวต้องใช้น้ำจำนวนมาก หากอยู่นอกเขตก็จะขาดแคลนเรื่องน้ำ และไม่สามารถนำน้ำใต้ดินมาใช้ได้

เมื่อดูภาพรวมจากภาวะทั้งภัยแล้ง ดูเรื่องของจำนวนพื้นที่การปลูก และรอยต่อระหว่างข้าวเก่าที่กำลังจะหมดและข้าวใหม่ที่กำลังปลูก ยังไม่ออกสู่ตลาด ทำให้ปริมาณของข้าวที่มีอยู่เดิมมีน้อย สินค้าที่มีน้อย เมื่อรวมกับพ่อค้าคนกลางรับไปขายกันเป็นทอด แต่ปริมาณคนบริโภคยังเท่าเดิม ก็ทำให้ราคาสูงขึ้น

หากสอบถามว่า ทำไมทางพาณิชย์จังหวัดไม่ลงไปควบคุมเรื่องราคา ซึ่งเรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะการลงไปควบคุมหรือแทรกแซงราคา บางครั้งจะเกิดผลกระทบมากกว่าผลที่ได้ เพราะหากเข้าไปควบคุม ก็จะเกิดการกักตุนสินค้า ของที่มีน้อยเมื่อถูกกักตุน ก็จะหายไปจากตลาด แต่จำนวนคนบริโภคยังคงมีเท่าเดิม ก็จะมีการขายแบบใต้ดินที่มีราคาแพง แล้วแพร่กระจายไปหลายพื้นที่ ทำให้ยิ่งควบคุมราคาไม่ได้ หากจะตามจับกุมก็จับกุมได้ไม่หมด เพราะจะเกิดทุกพื้นที่ และเชื่อว่าหากสถานการณ์ข้าวใหม่ที่กำลังปลูก เมื่อออกสู่ตลาดแล้ว สถานการณ์ราคาข้าวก็จะกลับมาเป็นปกติ