นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ร่วมด้วยช่วยกัน สานฝันคนพิการ” ที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ชลิสา ภาณุ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางอณิรา ธินนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พระครูสุธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดห้วยเกี๋ยง เจ้าคณะตำบลหนองหาร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิ นายประหยัด ทรงคำ ประธานอนุกรรมการบริหารมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พร้อมด้วยคนพิการและหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
ช่วงเช้าได้มีพิธีทำบุญทอดผ้าป่า โดยเงินที่ได้จากการทำบุญทั้งหมด ทางพระครูสุธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดห้วยเกี๋ยง ได้มอบเงินทั้งหมดเข้ามูลนิธิฯ ด้วย จากนั้นก็เป็นการมอบโล่ห์รางวัลให้กับผู้สนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงมอบโล่ห์รางวัลดีเด่นให้กับศูนย์คนพิการที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์ดีเด่น
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมด้านอาชีพให้กับคนพิการ โดยทางมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการได้เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือคนพิการที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้าน ชนบททั่วไปที่ยังขาดโอกาสและขาดสิทธิที่พึงจะได้รับอีกจำนวนมาก ทางด้านศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานมูลนิธิฯ เห็นว่าควรมีการขยายโอกาสและช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศให้มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้แบบยั่งยืน จึงได้มีการจัดตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สาขาภาคเหนือ
รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน และได้รับมอบที่ดินจากนางดวงกมล พานิชกุล เศรษฐีใจบุญ ที่เป็นเจ้าของที่ดินและบ้าน ในพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ได้ยกให้กับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เพื่อนำไปใช้ใเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้พิการทั้งภายในและต่างประเทศ จึงตั้งชื่อศูนย์แห่งนี้ว่า “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ชลิสา-ภาณุ” และในอนาคตจะได้จัดทำเป็นพินัยกรรมมอบทั้งบ้านและที่ดินให้กับมูลนิธิฯ ทั้งหมด
โดยมีพระครูสุธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดห้วยเกี๋ยง เจ้าคณะตำบลหนองหาร ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษามูลนิธิ และนายประหยัด ทรงคำ ประธานอนุกรรมการบริหารมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สาขาภาคเหนือ เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงมีหน่วยงานภาคเอกชน และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เข้ามาช่วยสนับสนุน และฝึกอบรมหลักสูตร 100 วัน 600 ชั่วโมง ระยะเวลา 6 เดือน ตามมาตรา 35 ที่ให้คนพิการเข้าไปทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนด้วย
ปัจจุบันทำให้คนพิการสามารถเข้ามาฝึกอบรมอาชีพได้มากถึง 530 ครอบครัว มีศูนย์ฝึกอบรมให้แก่คนพิการแล้ว จำนวน 12 ศูนย์ย่อย กระจายอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และมีผู้นำคนพิการที่ยื่นความประสงค์ขอจัดตั้งศูนย์ย่อยเพิ่มขึ้นในปี 2562 อีกหลายแห่ง โดยหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่คนพิการนั้น มูลนิธิได้พิจารณาถึงความเหมาะสมกับคนพิการแล้ว โดยเน้นเรื่องของเกษตรปลอดสาร เกษตรอินทรีย์ ให้คนพิการทำได้จริง ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย ทำอยู่กับบ้านได้ ลงทุนต่ำ สร้างรายได้จริงทั้งรายได้รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน มีตลาดรองรับ เช่น
การเพาะเห็นนางฟ้าภูฐาน เห็ดโคนน้อย การเลี้ยงจิ้งหรีด การปลูกผัก การค้าขายด้านการตลาด ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าจนทำให้คนพิการในปัจจุบันสามารถพึ่งพาตนเองได้ ในขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิฯ ยังได้ทำกิจกรรมปั่นไปไม่ทิ้งกัน เพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิฯ ในการดูแลคนพิการทั่วประเทศ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ “คุกกี้จิ้งหรีด” ที่นำมาจำหน่ายด้วย เป็นคุกกี้โปรตีน โดยวิธีการทำก็เหมือนกับการทำขนมคุกกี้ทั่วไป แต่นำจิ้งหรีดที่กลุ่มคนพิการเพาะเลี้ยงนั้น ปกติจะเห็นแค่การนำไปทอด แต่ครั้งนี้ได้นำไปบดให้เป็นผง และนำมาผสมลงในคุกกี้ กลายเป็นคุกกี้จิ้งหรีด หรือคุกกี้โปรตีนผสมจิ้งหรีด ทำให้เกิดรสชาติแปลกใหม่ เป็นสินค้าใหม่ในด้านการตลาด มีกระแสตอบรับที่ดีอย่างมาก และราคาจำหน่ายก็ไม่แพงด้วย และยังมีสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกหลายชนิดที่มาจากกลุ่มคนพิการ ในวันนี้จึงได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนพิการ เพื่อนำไปต่อยอดอาชีพในอนาคตด้วย