สสส.จัดอบรมครูและผู้ดูแลเด็ก เสริมศักยภาพครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือและเสริมการพัฒนาสื่อสำหรับเด็ก
ที่ห้องรอยัลออคิดบอลรูม โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ทางเจ้าหน้าที่แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมครูผู้ดูแลเด็กศรีนครพิงค์เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ และเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน จัดอบรมวิชาการปฏิบัติการสร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโครงการ “สร้างสรรค์หนังสือและสื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยเชียงใหม่เพื่อพัฒนาศักยภาพครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัย” ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทํางานกับเด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงใหม่
ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และสามารถส่งเสริมการอ่านในกลุ่มเด็กเล็ก เข้าร่วมจำนวนกว่า1,000 คน จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสถานรับเลี้ยงเด็ก 600 แห่ง ภาครัฐและภาคเอกชนโดยแบ่งเป็น 4 รุ่นรุ่นที่ 1 วันที่ 19 พฤษภาคม 2561รุ่นที่ 2 วันที่ 20 พฤษภาคม 2561รุ่นที่ 3 วันที่ 26 พฤษภาคม 2561และรุ่นที่ 4 วันที่ 27 พฤษภาคม 2561
นางสุดใจ พรหมดเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยตามกระแสการพัฒนา จนทำให้คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตอยู่กับการบริโภคตามกระแส ติดสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สำคัญคือเด็กเล็กส่วนใหญ่ฝากไว้กับปู่ย่าตายายเลี้ยงดู ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่าเด็กปฐมวัย 0-6 ปี ยังเล็กเกินกว่าจะอ่านหนังสือ จึงหันมาให้บุตรหลานดูโทรทัศน์ ใช้มือถือ และแท็บแลตแทน ที่น่าตกใจยังพบว่าครูและผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ยังขาดทักษะความรู้ในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม
หากครูได้รับความรู้และทักษะที่ถูกต้องและเหมาะโดยเฉพาะการใช้สื่อและหนังสือนิทานสำหรับเด็กเล็กแล้ว ก็จะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เด็กปฐมวัย มีส่วนกระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหันมาสนใจและเห็นความสำคัญของการอ่านในเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กสำหรับวัยนี้ ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้ฟัง เพื่อสร้างความสุข กระตุ้นการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของสมองซึ่งเติบโตกว่า 80 % ของชีวิตมนุษย์
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมครูผู้ดูแลเด็กศรีนครพิงค์เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ และเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน ได้ตระหนักถึงสถานการณ์การอ่านในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านร่วมกันอย่างต่อนื่อง ที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นการส่งเสริมการอ่านในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายในระดับหนึ่ง ทั้งนี้จึงเห็นว่าหากต้องการปลูกฝังการส่งเสริมรักการอ่านอย่างยั่งยืนควรเริ่มต้นตั้งแต่กลุ่มเด็กปฐมวัย 0-6 ปี และกลุ่มวัยเรียน
โดยครอบครัวและท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก โดยมีนโยบายและแนวปฏิบัติส่งเสริมการอ่านในทุกระดับ ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านจังหวัดเชียงใหม่ เป็นนครแห่งการอ่านต่อไป