หลังจากที่ได้มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างหนัก จนทางด้านกรมปศุสัตว์ต้องประกาศให้ 13 จังหวัด ได้แก่สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ เป็นพื้นที่สีแดง นอกจากนี้ยะงมีผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว 3 คน จนหลายหน่วยงานต้องมีการเฝ้าระวังโรคระบาดพิษสุนัขบ้าเพื่อเป้นการป้องกันและควบคุมโรค
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสำรวจยังตลาดสัตว์เลี้ยง ย่านประตูหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบผลกระทบหลังจากที่ได้มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าพบว่าบรรยารกาศการซื้อขายสัตว์เลี้ยงเป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากส่วนใหญ่คนที่กำลังมองหาน้องหมาสัตว์เลี้ยงคู่ใจไปเลี้ยง ยังคงรู้สึกหวาดกลัว และยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะซื้อสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ไปเลี้ยงที่บ้าน ทำให้ยอดการจำหน่ายสุนัขสายพันธุ์ต่างๆลดลงเกือบครึ่งจากที่เคยขายได้
นายกมล คำแก้ว อายุ 34 ปี ผู้ค้าสัตว์เลี้ยง ได้เปิดเผยว่า หลังจากที่มีข่าวของการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าก็ทำให้ยอดจำหน่ายสัตว์เลี้ยงที่ร้านลดลง ซึ่งตนอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าสัตว์เลี้ยงที่มาจำหน่ายในร้านของตนนั้น ได้มีการคอยดูแลเป็นอย่างดีและมีการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า รวมไปถึงวัคซีนป้องกันโรคต่างๆให้กับสัตว์เลี้ยงทุกตัวอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงจะเป็นเพียงน้องหมาจรจัด ที่ไม่มีเจ้าของดูแล ซึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและสุนัขเหล่านี้บางตัวจะมีนิสัยดุร้าย และมักจะกัดกันจึงทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้อยากฝากเตือนให้กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ ควรที่จะนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษศุนัขบ้า รวมไปถึงวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และจะทำให้สัตว์เลี้ยงมีภูมิคุ้มกัน และอยู่กับเจ้าของไปนาน
สำหรับโรคพิษสุนัขบ้านั้นถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies) ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว และอื่นๆอีกหลายชนิด โดยสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีการแสดงอาการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ในระยะเริ่มแรก สัตว์จะซึม หวาดระแวง หงุดหงิด ซ่อนตัว ม่านตาขยาย ไม่ค่อยตอบสนองต่อแสง จากนั้นในระยะที่สองสัตว์จะมีอาการกระวนกระวาย งับกัดสิ่งเคลื่อนไหวใกล้ตัวพบกล้ามเนื้อที่กล่องเสียงเป็นอัมพาต สัตว์จะกลืนน้ำไม่ได้แม้อยากกิน ลิ้นห้อย น้ำลายไหล
และระยะที่สามระยะอัมพาต พบกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย การอัมพาตจะเริ่มจากส่วนท้าย และกระจายไปทั่วตัว สัตว์จะเสียชีวิต เนื่องจากอัมพาตที่ระบบหายใจ ซึ่งถ้าหากเชื้อดังกล่าวเข้าสู่คนแล้วจะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง โดยผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าวจะมีอาการไข้ต่ำ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว เจ็บเวลากลืนอาหาร สุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต ซึ่งหากใครถูกสัตว์กัด ควรจะล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ทายา แล้วรีบไปพบแพทย์ในทันที