“บิ๊กฉัตร” ลุยตรวจอุโมงค์ 15,000 ล้าน มั่นใจเสร็จทันปี 64 สร้างความเชื่อมั่นว่า แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเชียงใหม่-ลำพูน พร้อมขยายลงเขื่อนภูมิพลในอนาคต
ช่วงเช้าวันที่ (22 ก.พ. 61) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางมาที่บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์เข้า-ออกหมายเลข 1,2 บ้านทับเดื่อ ต.อินทขิล อ.แม่แตง เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีการเจาะอุโมงค์ส่งน้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย โดยมีนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน และดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้บรรยายสรุป
จากนั้นคณะได้เดินเข้าตรวจสอบการก่อสร้างภายในอุโมงค์ เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยในการขุดเจาะ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปอีกครั้งในอุโมงค์
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังจากการตรวจอุโมงค์ว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ให้แล้วเสร็จตามแผนงานภายในปี 2564 ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จะมีการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแบ่งเป็น 2 ช่วงด้วยกันคือ ช่วงที่ 1 การขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำท่วมอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ – อ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ และอาคารประกอบระยะทาง 22.975 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 4,713 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ 27
ช่วงที่ 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงลำน้ำแม่แตง – อ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ และอาคารประกอบระยะทาง 25.624 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 647 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ 10
สำหรับการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในการดำเนินโครงการฯ นั้น การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำทั้ง 2 ช่วงจะใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรวมกันประมาณ 745 ไร่ รัฐมนตรี่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จะเหลือเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จำนวน 229 ไร่ อยู่ระหว่างการเสนอ ครม. เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท เริ่มทำตั้งแต่ปี 58 และวงเงินปีนี้ได้ใช้อย่างรัดกุม การออกแบบก่อสร้างสามารถลดต้นทุนการก่อสร้างได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และภาพรวมก่อสร้างขณะนี้แล้วเสร็จไป 17 เปอร์เซ็นต์แล้ว การก่อสร้างขณะนี้อาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในกรอบแผนงานที่ทำอยู่
รวมถึงการนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการปฏิบัติด้วยการทำอ่างพวง โดยนำน้ำจากลำน้ำแม่แตง ที่มีน้ำเยอะที่สุด จนทำให้เกิดน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ ทำการผันน้ำมาไว้ที่เขื่อนแม่งัด เพื่อลดปริมาณน้ำในลำน้ำแม่แตง แล้วผันน้ำส่งต่อมาเก็บไว้ที่เขื่อนแม่กวง ซึ่งสามารถแก้ได้ทั้งปัญหาเรื่องน้ำท่วม และยังเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอต่อด้านอุปโภค บริโภค และการเกษตร สามารถขยายพื้นที่การเกษตรด้านท้ายน้ำเพิ่มได้ในอนาคต
ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ในเขตชลประทานไม่น่าหวง เพราะมีน้ำอยู่ในเขื่อนเก็บน้ำ 35 เขื่อนใหญ่ รวม 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ห่วงที่สุดคือนอกเขตชลประทาน ซึ่งจะให้กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และท้องถิ่นต้องไปดูแล และหลายหน่วยงานไปดูแล พร้อมเพิ่มบ่อน้ำขนาดเล็ก โดยปีที่ผ่านมาได้เพิ่มบ่อน้ำไปแล้ว 170,000 บ่อทั่วประเทศ รวมถึงทำบ่อบาดาลแก้ปัญหาในพื้นที่ที่สามารถใช้น้ำผิวดินได้ สำนักน้ำก็จะเข้าไปบูรณาการในเรื่องนี้
การบริหารน้ำที่เป็นระบบในพื้นที่ภาคเหนือ ในอนาคตก็วางแผนที่จะส่งน้ำเข้าสู่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ผันน้ำไปได้ก็จะทำให้ภาคเหนือทั้งหมดบริการจัดการน้ำได้อย่างสมบูรณ์ ขณะนี้กำลังศึกษา ออกแบบ ทำประชาคมเรื่องการขุดทำอุโมงค์รวมระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ไว้เช่นกัน แต่ต้องใช้เวลา และหากทำเสร็จทางเขื่อนภูมิพลก็สามารถส่งน้ำเข้าไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยเหลือและบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาได้อีก ก็จะบริหารน้ำได้รวมทั้งประเทศ เรื่องแก้ปัญหาด้านน้ำท่วมและภัยแล้ง