รัฐมนตรีฯ อดุลย์ ขึ้นเหนือเร่งรัดพิสูจน์สัญชาติเมียนมา เพิ่มศักยภาพแรงงานรับอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมสั่งให้เฝ้าระวังเรื่องเจ้าหน้าที่รับสินบน ส่วนการแย่งงานคนไทยไม่มีเพราะเข้ามาทำงานในส่วนที่แรงงานไทยไม่ทำ
ช่วงเช้าวันที่ 31 ม.ค. 61 พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อตรวจติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายและทิศทางการปฎิบัติราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบาย (11+4+6) ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยมี นายปวิณ ชำนิประศาสตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางพรปวีณ์ วิชิต จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะให้การต้อนรับ และนำออกตรวจติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์บริการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (OSS) จังหวัดเชียงใหม่
จากผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2560 ถึง 21 มกราคม 2561 พบว่า ทางการเมียนมาสามารถดำเนินการตรวจสัญชาติเฉลี่ยแล้วประมาณวันละ 1,000 คน ที่ผ่านมามีผู้มารับบริการในศูนย์วันละ 600 คนใช้เวลาเฉลี่ยคนละ 2.30 ชั่วโมง มีแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติแล้ว 57,143 คน จังหวัดที่มีคนต่างด้าวมาขอรับใบอนุญาตทำงานมากที่สุดคือ เชียงใหม่ รองลงมาคือ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง และเชียงราย ตามลำดับ
มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว 151,470 คนนายจ้าง 40,119 คน และจากการเดินทางมาตรวจสอบในวันนี้ ก็พบว่าปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีกำลังแรงงาน 1,015,881 คน ผู้มีงานทำ 67.90 เปอร์เซ็นต์ ว่างงาน 1.10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 0.05 เปอร์เซ็นต์ กำลังรอฤดูกาลมีสถานประกอบการ 10,739 แห่ง มีแรงงานในระบบ 373,836 คน แรงงานนอกระบบ 608,256 คน
สำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในจังหวัดเชียงใหม่ จากข้อมูลนายจ้างหรือสถานประกอบการที่แจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ มีนายจ้างหรือสถานประกอบการจำนวน 41,307 ราย ความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวจำนวน 313,954 คน ซึ่งประเภทกิจการ 5 อันดับ ที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานมากที่สุดได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการเกษตรและปศุสัตว์ กิจการให้บริการต่างๆ กิจการผู้รับใช้ในบ้าน และกิจการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนคน ก็มีการพิสูจน์สัญญาณไปแล้ว เหลือประมาณ 20,000 กว่าราย ก็ดูระบบการบูรณาการต้นทางของเมียนมา ก็คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 เดือน ก็ดูแล้วน่าพอใจ ก็ขับเคลื่อนไป ให้เน้นด้านการบริการที่มีความรวดเร็ว ให้อยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งจบ และก็มีระบบคิว ระบบนายหน้าก็ไม่มี ก็มอบหมายให้เจ้าหน้าที่บูรณาให้อย่างชัดเจน และเตรียมที่จะทำศูนย์บริการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (ศูนย์ OSS) ต่อไป
สำหรับปัญหาอุปสรรคของที่เชียงใหม่ก็ไม่มีอะไร เพราะแรงงานเมียนมาที่นี่จะน้อย และเจ้าหน้าที่ก็เก่ง และก็เป็นที่ให้ศูนย์อื่นนำไปปรับใช้ได้ ทั้งการบริการ การบูรณาการ และระยะเวลา ซึ่งทางเมียนมาก็มีความพร้อมก็จะมีเจ้าหน้าที่ 5 คน มีล่าม มีการพิสูจน์สัญชาติพร้อม
ต่อไปจะมีการปรับให้ทุกศูนย์ปฏิบัติงาน มีระบบ มีระเบียบ มีประสิทธิภาพ ส่วนผู้ประกอบการที่นำแรงงานเข้ามา หรือแรงงานที่เข้ามา จะได้รับการดูแลจากรัฐบาลไทยที่สะดวกรวดเร็ว จะให้มาและรอระบบ 12 ชั่วโมงไม่ได้ ก็คงต้องให้เหลือ 4 – 6 ชั่วโมง การทำงานของคนต่างด้าวไม่ได้มาแย่งอาชีพคนไทยเพราะมาทำในงานที่คนไทยไม่ทำ รวมถึงการคุมเข้มเรื่องเจ้าหน้าที่รับสินบน แต่เบื้องต้นตรวจสอบแล้วยังไม่พบ