ข่าวเด่น » พลอากาศเอก ประจิน รองนายกรัฐมนตรีฯ เปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยเร่งปราบยาเสพติดลุ่มน้ำโขง

พลอากาศเอก ประจิน รองนายกรัฐมนตรีฯ เปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยเร่งปราบยาเสพติดลุ่มน้ำโขง

20 มกราคม 2018
1311   0

Social Share

พลอากาศเอก ประจิน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย ประจำปี 2561 และหารือกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย จำนวน 5 ประเทศ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยังคงเป็นปัญหารุนแรงของหลายๆ ประเทศ

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (Safe Mekong Coordination Centre – SMCC) ประจำปี 2561 พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ สอาดพรรค นางสาวดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายปวิณ ชํานิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 และพลตำรวจโทพูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5

โดยมี นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. คณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ และหารือกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ณ ศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขง ปลอดภัย จังหวัดเชียงใหม่

โครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ริเริ่มโครงการฯ โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนมาตั้งแต่ปี 2556 และได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาการของการดำเนินงานมาโดยลำดับ ด้วยความร่วมมือของประเทศสมาชิก ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยการใช้ยุทธศาสตร์ “ปิดล้อมสามเหลี่ยมทองคำ”

ด้วยมาตรการลดศักยภาพการผลิตยาเสพติดในพื้นที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในลุ่มแม่น้ำโขง และพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยแต่ละประเทศจัดสรรทรัพยากร ทั้งด้านงบประมาณ กำลังพล และเครื่องมืออุปกรณ์เข้ามาดำเนินการ ตามศักยภาพ และกรอบอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตยาเสพติด ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ

ในขณะเดียวกันก็สกัดกั้นยาเสพติดที่ผลิตจากสามเหลี่ยมทองคำไม่ให้ออกไปแพร่กระจายในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก แต่ในปี 2560 ที่ผ่านมา ยังคงมีการลักลอบผลิตยาเสพติดเป็นจำนวนมากในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นการผลิตที่ไม่มีขีดจำกัดของการผลิตยาเสพติดชนิดสารสังเคราะห์ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดยังคงสามารถหาสารตั้งต้นที่จะนำมาใช้ในการผลิตยาเสพติดได้อย่างไม่จำกัดเช่นกัน โดยประเทศสมาชิก ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยเป็นศูนย์กลางการประสานงานของทุกประเทศ และได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 สำหรับการเป็นเจ้าภาพ

โดยการประชุมวันนี้ได้ร่วมหารือในสาระสำคัญ 6 เรื่อง คือ 1. การสร้างเป้าหมายร่วมกันที่จะดำเนินการต่อพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 2. การยกระดับความร่วมมือในการดำเนินการในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 3. การให้ความสำคัญของการสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด 4. การผนึกกำลังร่วมกันของทั้ง 6 ประเทศในการกำหนดเครือข่ายการผลิตและค้ายาเสพติดที่สำคัญในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 5. การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และ 6. อนาคตของความร่วมมือกันของ 6 ประเทศ ซึ่งจะต้องมีการทำแผนความร่วมมือในการสกัดกั้นและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำต่อไปอีก