นายศิริชัย แซ่เจียม หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ บ้านแม่แฮเหนือ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากความนิยมและแนวโน้มความต้องการของตลาดในการบริโภค พริก มะเขือ และผักสลัด ที่สูงขึ้นประกอบกับการเพาะกล้าพริก มะเขือ และกลุ่มผักสลัด ซึ่งเมล็ดมีขนาดเล็ก มีรูปทรงทั้งแบบแบนและกลม ทำให้การหยอดเมล็ดลงถาดหลุมเพื่อเพาะกล้า ต้องใช้เวลานาน และเสียเวลามาก อีกทั้งในปัจจุบันการหาจ้างแรงงานในพื้นที่เป็นไปได้ยาก อัตราค่าจ้างแรงงานมีการปรับสูงขึ้น ร่วมกับการจำกัดการจ้างแรงงานของศูนย์/สถานี ส่งผลทำให้ไม่สามารถจัดการผลผลิตได้ทันต่อความต้องการ ทีมงานจากมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งตนเป็นหัวน้าศูนย์พัฒนาฯ ได้ร่วมกับ นายศีลวัต พัฒโนดม นักวิชาการงานวิจัยและพัฒนาส่งเสริมผักและสมุนไพร และ นายวิทูรย์ บุญสง่า นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ จึงได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือทางการเกษตร ”เครื่องเพาะกล้าพริก มะเขือและสลัด เพื่อลดต้นทุนการเพาะกล้าให้แก่ศูนย์/สถานี” ลดระยะเวลาในการทำงาน เพิ่มความแม่นยำถูกต้องตามแผนการผลิต และทดแทนกำลังพลที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานและเหมาะสมต่อบริบทการทำงานในแต่ละพื้นที่
จากการศึกษาค้นคว้าทดลองผลิตเครื่องเพาะกล้าพริก มะเขือและสลัด ทั้งพัฒนาให้เหมาะสมต่อบริบทการใช้งานในพื้นที่ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผักที่สำคัญ ของมูลนิธิโครงการหลวง ช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม สามารถสร้างเครื่องเพาะกล้าพริก มะเขือเทศและสลัด ขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 1.80 เมตร ใช้ระบบเข็มดูดเมล็ด และสายพานลำเลียงถาด ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ใช้แรงงานคนป้อนถาดและควบคุมเครื่อง 1 คน ความเร็วในการเพาะ 40 วินาที ต่อ 1 ถาด หรือ 1 ชั่วโมง 90 ถาด หรือ 1 วัน 720 ถาด หากใช้แรงงานคนในการเพาะจะใช้เวลา 4 นาทีต่อถาด หรือ 15 ถาดต่อ 1 ชั่วโมง หรือ 1 วัน 120 ถาด เปรียบเทียบค่าแรงในการเพาะกล้าจำนวน 720 ถาด ใช้แรงงานคน 6 คน ใช้ค่าจ้างแรงงาน 1,800 บาท/วัน หากใช้ เครื่องเพาะจะใช้แรงงาน 1 คน ค่าจ้างแรงงาน 300 บาท/วัน สามารถลดค่าแรงงานและลดเวลาในการเพาะกล้า ได้ไม่น้อยกว่า 80 % และแม่นยำได้ถูกต้องมากกว่า 80 % ทั้งนี้ยังมีแผนที่จะได้พัฒนาเครื่องให้เหมาะสมต่อบริบทการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง ต่อไป ทั้งนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนา เครื่องให้มีความเหมาะสมต่อบริบทการทำงานในแต่ละพื้นที่ และรูปลักษณ์ของเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ในการผลิตให้มีปริมาณผลิตผลที่เพียงพอและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง