9 ก.พ.66 ที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ นายวิทยา ครองทรัพย์ ตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้เฝ้าระวังปัญหา สภาลมหายใจภาคเหนือ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.เชียงใหม่ ผ่านทางนายกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ดำเนินการยกระดับพื้นที่ตำบลหางดง อำเภอฮอด โดยประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และจัดการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันอย่างเร่งด่วน หลังเกิดไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดออบหลวงติดต่อกันมาหลายวัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นายวิทยา ครองทรัพย์ ตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้เฝ้าระวังปัญหา สภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า เนื่องด้วยค่าอากาศที่ตัวอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เช้านี้ เข้าขั้นวิกฤติ หลังมีการเผาป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงติดต่อกันหลายวัน เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศรายนาที NTAQHI สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. ให้ค่าสีน้ำตาล สูงสุดตามสเกลมาตรฐาน US AQI ที่ระดับเกินจากความสามารถในการวัดค่า หรือ Beyond AQI หมายถึงว่า ค่าฝุ่นรายนาทีใกล้เรียลไทม์ของเครื่องวัดชนิดนี้ มีค่าทะลุสูงกว่า 500 US AQI อันเป็นเพดานวัดค่าอากาศสูงสุดที่กำหนดไว้ เทียบกับการอ่านค่ารายชั่วโมงจากเครื่อง Dustboy ซึ่งตั้งใกล้เคียงกันที่สถานี รพ.ฮอด เมื่อเวลา 07.00 น. วัดค่าได้ 283 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าฝุ่น PM 2.5 ของเครื่องวัดมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ ผ่านแอปพลิเคชั่น air4thai ของสถานี บ้านหางดง อำเภอฮอด ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ช่วงเวลาเที่ยงคืนวัดค่าได้ 379 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าฝุ่นเฉลี่ยที่สูงมากแตะ 400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาจนถึงเช้านี้ รายชั่วโมงยังใกล้กับ 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในขั้นวิกฤตอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง การเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยอำเภอฮอด และเร่งดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงโดยเร็ว
นายกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวภายหลังจากที่ได้รับหนังสือว่า พื้นที่เกิดไฟป่าอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง ขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อควบคุมไฟป่า จำนวน 120 นาย เครื่องบินโปรยน้ำ จำนวน 2 ลำ เครื่องบิน UAV จำนวน 1 ลำ เพื่อสำรวจทางอาการและนำร่องหาต้นเพลิงที่แท้จริง ก่อนจะรายงานกลับมายังภาคพื้นดินและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟในจุดต้นเพลิง หากเข้าไม่ถึงจะมีเครื่องบินโปรยน้ำเข้าไปดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีเครื่องปีกบินที่เข้ามาช่วยเหลือในการสำรวจเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 ลำ เข้ามาช่วยเหลือในการหาจุดที่เกิดเพลิงไหม้เช่นกัน