ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านดอนไชย ม.10 ต.เชียงแรง อ.ภูซาง จ.พะเยา พบว่ามีชาวบ้านเกษตรกรบางส่วนที่เคยทำสวนยางพาราหรือสวนลำไยนั้นราคาขายกลับตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในบางปี จนมาได้ค้นพบว่าโกโก้คือพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่กำลังมาแรงและให้ราคางามและจึงได้ริเริ่มหันมาทดลองปลูกต้นโกโก้ โดยนายอนนต์ กันทะเนตร อายุ 62 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านดอนไชย ม.10 ต.เชียงแรง ได้นำเอาต้นโกโก้มาทดลองปลูกในพื้นที่สวนยางพาราของตนเอง
โดยนายอนนต์ กล่าวว่าก่อนหน้านั้นตนเองทำทั้งการปลูกยางพารา การทำสวนลำไยและการเพาะปลูกข้าว แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันนี้พื้นเศรษฐกิจเหล่านี้กลับให้ราคาที่น้อยลงจนทำให้ตนเองต้องหาทางในการจุนเจือครอบครัวและสร้างความรู้ให้กับชุมชนที่ตนเองอาศัย ซึ่งตนเองเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านมาก่อน จนมาล่าสุดลูกสาวของตนเองคือ น.ส.ฝนทอง กันทะเนตร ได้แนะนำมาว่าให้ทดลองปลูกต้นโกโก้ดูเพราะราคาขายนั้นแพงมาก ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นตนเองก็ได้เดินทางไปที่สหกรณ์ จ.พิษณุโลกเพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับในเรื่องของการปลูกต้นโกโก้และพบว่าพืชตัวนี้ให้ผลผลิตและราคาได้ดีมาก จึงได้ปรึกษากับลูกสาวของตนเองและได้ริเริ่มนำมาทดลองปลูกในสวยยางพาราของตนเอง และนอกจากนี้ลูกสาวของตนเองได้ทำสัญญาผูกขาดกับทางบริษัทในต่างประเทศถึงการขายผลของต้นโกโก้ด้วย โดยทางบ้านเราส่วนใหญ่ยังพบว่ามีการแปรรูปน้อยมาก จึงขอเก็บผลผลิตขายเพื่อส่งออกดีกว่า ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง กก.ละ 100 บาทสำหรับผลที่แห้ง ส่วนผลดิบนั้นมีประกันราคาถึง กก.ละ 10 บาท
ทั้งนี้ตนเองจึงได้มาทดลองปลูกในสวนยางพาราของตนเองที่มีเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ซึ่งจะต้องรอดูผลผลิตอีก 3 ปีข้างหน้า และนอกจากนี้ยังนำกล้าต้นโกโก้มาจำหน่ายให้ชาวบ้านและผู้ที่สนใจจะปลูกพืชทางเลือกใหม่นี้ในราคาต้นละ50 บาท ส่วนปุ๋ยที่ใส่ต้นโกโก้นั้นตนเองจะแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น โดยไม่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด ส่วนใครที่สนใจจะนำกล้าไปขายนั้นตนเองก็ยินดีที่จะแบ่งขายพร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นโกโก้นี้ด้วยสำหรับเกษตรกรท่านใดที่สนใจจะปลูกต้นโกโก้หรือหาข้อมูลในการปลูกพร้อมทั้งสอบถามราคาก็สามารถติดต่อมาได้ที่นายอนนต์ กันทะเนตร อดีตผู้ใหญ่บ้านดอนไชย ม.10 หมายเลขโทรศัพท์ 083-3234013 ได้ตลอดเวลา
ทางด้านนายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอภูซาง จ.พะเยา กล่าวเสริมว่า ในพื้นที่ของอำเภอภูซางนี้พบว่าเริ่มมีเกษตรกรหันมาทดลองปลูกต้นโกโก้นี้แล้วจำนวน 3-4 ราย และบางรายยังจำหน่ายกล้าต้นโกโก้นี้ด้วย ทั้งนี้ตนเองมองว่าพืชตัวนี้ทางอำเภอยังไม่ได้มีการส่งเสริมให้ปลูกและก็ไม่ได้ห้ามปลูกแต่อย่างใด เพียงแต่ตอนนี้อยู่ในช่วงของการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรที่กำลังจะหันมาปลูกต้นโกโก้นั้นจะมีจุดรับซื้อที่ชัดเจนและให้ราคาที่สูง มากกว่าที่จะมาหลอกให้ซื้อกล้าไปปลูกแต่ไม่มีจุดรับซื้อ ซึ่งเคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ในส่วนของการแปรรูปนั้นพบว่าเวลานี้ในส่วนของภาคเหนือนั้น มีเพียง จ.ลำปาง และ จ.เชียงใหม่ เท่านั้นที่แปรรูปผลผลิตพืชตัวนี้ได้ แต่ถ้าหากมีการนำส่งออกขายให้ยังบริษัทในต่างประเทศพร้อมทั้งให้ราคาที่สูงนั้นก็อาจจะส่งเสริมการปลูกต้นโกโก้นี้ให้เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ในอนาคตด้วยเช่นกัน