ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน บ้านฝั่งแวน ม.11 ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา นายนภดล เข็มเพชร กำนัน ต.เชียงบาน ได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอบลำไยบ้านฝั่งแวนขึ้นโดยมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 75 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภายในหมู่บ้านทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดพะเยาอีกด้วย
นายนพดล กล่าวว่า ในหมู่บ้านฝั่งแวนแห่งนี้ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกลำไยกันมาก ซึ่งลำไยที่ปลูกนั้นก็จะมีอยู่ด้วยกัน 2 พันธุ์คือ อีดอ และเบี้ยวเขียว แต่ลำไยพันธุ์อีดอนั้นมีรสชาติค่อนข้างดีจึงเป็นที่นิยมที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อไปรับประทานสดกัน ส่วนพันธุ์เบี้ยวเขียวนั้น รสชาติจะเป็นลองลงมา ทั้งนี้จึงทำให้ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของตลาดมากนักดังนั้นตนจึงคิดว่าหากขายสดไม่ได้ก็ต้องแปรรูปเป็นอีกแบบเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้จึงได้ปรึกษากับกลุ่มชาวบ้านแล้วได้นำแนวคิดไปพูดคุยกับทางเกษตรจังหวัดพะเยา จนได้รับการสนับสนุนในการแปรรูปลำไยนี้ด้วยการใช้วิธีอบ ซึ่งทางเกษตรจังหวัดพะเยาได้สนับสนุนเครื่องอบลำไยมาทดลองในการแปรรูปลำไยในครั้งนี้ สำหรับเครื่องอบลำไยนี้ใช้หลักการทำงานอบด้วยไฟฟ้าและแก๊ส ทั้งยังมีการควบคุมอุณหภูมิด้วยเช่นกัน แต่ลำไยที่จะแห้งกรอบ หวาน นั้นขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของผลลำไยด้วย โดยหากที่ผลลำไยหนามากก็จะใช้เวลาถึง 10 ชม. แต่หากหนาไม่มาก จะอยู่แค่ 6 ชม.ของการอบในแต่ละครั้ง และหลังจากนั้นก็จะได้ลำไยอบแห้งที่แสนอร่อย นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้อีกด้วย ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายนั้นในเวลาตนเองได้ให้อาจารย์จาก ม.ราชภัฏเชียงราย ทำการออกแบบซองบรรจุภัณฑ์รวมทั้งโลโก้ที่ชวนให้คนซื้ออยากซื้อไปรับประทานอีกด้วย
การเพิ่มมูลค่าทางเกษตรนั้น ชาวบ้านฝั่งแวน ม.11 ต.เชียงบานนี้ส่วนใหญ่จะช่วยกันทำเกือบทั้งหมู่บ้าน เพราะถือได้ว่าชาวบ้านให้ความสนใจกับการแปรรูปผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมในชนิดต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ด้วยการยึดมั่นชีวิตในวิถีแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ชาวบ้านที่นี่ต่างก็มีความเป็นอยู่ที่แสนเรียบง่ายและมีความสุขกันอยู่แล้ว และจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนที่พบเห็นต่อไปในอนาคต นายนภดล กล่าวทิ้งท้าย