ข่าวเด่น » กรมควบคุมมลพิษ บูรณาการหน่วยงานในภาคเหนือเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

กรมควบคุมมลพิษ บูรณาการหน่วยงานในภาคเหนือเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

25 มกราคม 2019
1469   0

Social Share

นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานแถลงข่าวเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2562 “อาสาด้วยใจ ลดภัยหมอกควัน” ที่สวนหลวงล้านนา ร.9 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 – 3, สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่, สบอ.16 (เชียงใหม่), สนง.ป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่, ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ, เกษตรจังหวัดเชียงใหม่, วิทยากรจิตอาสา 904, สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานป่าไม้ที่ 1, ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มช.และหน่วยวิจัยบูรณาการหมอกควัน มช. ได้ร่วมกันแถลงข่าว

นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-3 (ภาคเหนือ) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เนื่องมาจากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยได้ประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศ หรือปัญหาไฟป่าและหมอกควันมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี

สถานการณ์ปัญหาจะเริ่มทวีความรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปี สาเหตุหลักคือ การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตร การเผาสองข้างทางเพื่อกำจัดวัชพืชริมทาง การเผาขยะมูลฝอย และการเผาในที่โล่งทุกพื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมของมนุษย์ในเขตเมืองที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งกระจาย เช่น การคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างขนาดใหญ่ ฯลฯ

ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศในภาคเหนือ ที่เป็นที่ราบแอ่งกระทะ และลักษณะภูมิอากาศมีความกดอากาศสูง จึงส่งให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กแขวนลอยอยู่ในอากาศนานขึ้น ไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่บรรยากาศเบื้องบนได้ ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบแอ่งกระทะ จึงได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยมาเป็นเวลายาวนาน

ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ได้มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังภายใต้บริบทภารกิจของหน่วยงานสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค ในฐานะหน่วยงานทางด้านวิชาการที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ได้เห็นความสำคัญของการจัดการปัญหาโดยกระบวนการชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง การสร้างความรับรู้ความเข้าใจการปลูกจิตสำนึก ให้แก่เด็กเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ให้มีความตระหนักต่อปัญหา

จึงได้กำหนดจัดงานแถลงข่าวเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์ปัญหาหมอกควันภาคเหนือปี 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่จะเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนมีการเตรียมตัวของประชาชนในการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และ PM2.5

นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำรายงานแจ้งเตือนและคาดการณ์สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือประจำปี 2562 เป็นรูปแบบการรายงานรายวันโดยเผยแพร่ผ่านแฟนเพจ Facebook “อากาศบ้านเฮา” เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างทันต่อเหตุการณ์ และมีแนวทางในการป้องกันตนเองเมื่อสถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมกับดำเนินตามนโยบายภายใต้แนวทาง “4 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ” ภายใต้ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ 1. พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ 2. พื้นที่เกษตรกรรม 3. พื้นที่ชุมชนและเขตเมือง 4. พื้นที่ริมทาง

สำหรับ 4 มาตรการบริหารจัดการ ได้แก่ 1. ระบบบัญชาการเหตุการณ์ 2.มาตรการสร้างความตระหนัก 3. มาตรการลดปริมาณเชื้อเพลิง และ 4. มาตรการจิตอาสาประชารัฐ

รวมถึงการกำหนดห้วงเวลาห้ามเผา การเพิ่มประสิทธิภาพของการเข้าเผชิญเหตุและดับไฟ เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเผาในทุกพื้นที่เสี่ยง และดำเนินมาตรการเพื่อเปลี่ยนกลุ่มคนจุดไฟเผาป่าให้เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและดับไฟ การรณรงค์สร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายคนจุดไฟเผาป่าที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างความเข้าใจ อาจมีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเผาป่าในห้วงเวลาห้ามเผา โดยจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดช่วงเวลาห้ามเผา ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562 รวมถึงกระจายข่าวไปสู่ชุมชนเพื่อสร้างกระแสถึงตัวให้เกิดความกลัวและไม่กล้าฝ่าฝืนข้อกำหนดของจังหวัด อำเภอ และหมู่บ้าน

การสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึก ต้องมีรูปแบบที่ชัดเจน เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ภาษาที่ใช้ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายของภาษาและกลุ่มชาติพันธ์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการติดตามสถานการณ์ ทางเทคโนโลยีดาวเทียมและระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการกำหนดแผนเผชิญเหตุและดับไฟให้มีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน โดยเน้นการสร้างความร่วมมือและประสานประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผาและหมอกควัน ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนทางการผลักดันการดำเนินงานตามแผนการ เปลี่ยนให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคปลอดหมอกควันข้ามแดนภายในปี 2563