สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” บันทึกในช่วงเช้ามืดวันที่ 4 มกราคม 2562 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยอิทธิพลของพายุส่งผลให้คืนดังกล่าวพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยมีเมฆมาก จึงสังเกตฝนดาวตกครั้งนี้ได้ค่อนข้างยาก
แต่สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าในบางจังหวัดทางภาคเหนือและภาคกลาง เช่น เชียงใหม่ น่าน กาญจนบุรี ฯลฯ สำหรับภาคใต้เนื่องจากอิทธิพลของพายุจึงไม่สามารถเห็นฝนดาวตกในครั้งนี้ได้
ฝนดาวตกควอดรานติดส์ (Quadrantids Meteor Shower) เกิดในช่วงระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม – 12 มกราคม ของทุกปี สำหรับปี 2562 มีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 3 มกราคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 4 มกราคม เกิดจากเศษอนุภาคที่หลงเหลือของดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) ที่โคจรตัดผ่านวงโคจรของโลก เมื่อโลกเคลื่อนที่เข้าใกล้บริเวณดังกล่าว เศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball)
เครดิตภาพ จากงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)