6 ก.พ. 66 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมอบนโยบายและมอบสิ่งของเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมนายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่นุรักษ์ที่ 16 นายกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลและรับฟังนโยบายการปฏิบัติงาน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปีนี้ได้คาดการณ์ไว้แล้วจากปีที่แล้ว สถานการณ์ปีนี้จะรุนแรงอย่างมาก จังหวัดเชียงใหม่ต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบหมู่บ้าน ตำบล ในการทำงานกับนายอำเภอ ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีแอปพลิเคชั่น FireD ในการจัดระเบียบการเผา ซึ่งการเผาในพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ไม่อนุญาตให้เผา การเผานั้นสามารถทำได้ แต่การเผาต้องมีระเบียบว่า เผาเมื่อไหร่ ปริมาณแค่ไหน และเผาพร้อมกันหรือต่างกันอย่างไร หัวใจของการเผาในแต่ละช่วงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แรงกดอากาศมากดทับในภาคเหนือหรือไม่ หรือว่ามีลมเพลมพัด หากมีการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้งก็สามารถกระทำได้ระดับหนึ่ง แต่หากพร้อมใจกันเผาทั้ง 17 จังหวัดจะเป็นปัญหาที่ทุกคนเคยเจอกันมาแล้ว
ดังนั้น การเข้มงวดของผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเป็นหัวใจสำคัญ การใช้กฎหมาย การใช้ระเบียบอย่างเคร่งครัด การประสานงานกับหน่วยงานทุกๆ หน่วยงาน การปฏิบัติงานในพื้นที่รอยต่อ ก็ต้องไม่มีและทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในวันนี้มีทั้งฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพภาคที่ 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัด การประสานงานทุกหน่วยงานมีความสำคัญไม่แพ้กัน งบประมาณเรามีอย่างเพียงพอ อย่างเช่นหน่วยงานกรมป่าไม้ ภารกิจและงบประมาณในการดับไฟป่าสงวนก็ต้องขอบคุณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพราะภารกิจและงบประมาณได้โอนไปอยู่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ กว่า 2,000 แห่ง มีการจัดตั้งงบประมาณในการดับไฟป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะสนับสนุนด้านความรู้ แนวทางการทำงาน การเก็บเชื้อเพลิง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา วันนี้มีบริษัทภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นจากแนวทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ภาคเอกชนและธุรกิจหลายๆ ส่วนเริ่มมีโรงงานจัดตั้งเพื่อรับซื้อวัสดุที่เหลือจากการเกษตรหรือวัสดุที่เหลือจากการเก็บออกมาจากพื้นที่ป่า ทำให้พี่น้องประชาชนเอาวัสดุเหล่านั้นแทนที่จะนำไปเผามาเปลี่ยนเป็นเงินนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าได้
การดับไฟป่าพยายามจะดับให้ได้ภายในกลางวัน ในส่วนตอนกลางคืนก็มีหน่วยลาดตระเวน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าคนที่จ้องจะเผากับคนที่จะป้องกัน ความยากง่ายต่างกัน ก็ให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ในส่วนของกระทรวงทรัพยฯ หรือในส่วนของฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหารในการลาดตระเวน การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้โดรนจับความร้อนตอนนี้ก็มีเพิ่มขึ้นมามาก เป็นการป้องกันเหตุที่จะเพิ่มขึ้นมาตอนกลางคืน พี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเองหากพบเห็นบุคคลใดที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กับสถานการณ์ไฟป่าของเราก็แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ หากไม่สามารถควบคุมไฟในพื้นที่ได้ หากมีผู้ไม่หวังดีก็อาจะมีการปิดพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ฯในจังหวัดเชียงใหม่จากการทำงานของฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำหมู่บ้าน ได้รับการตอบรับอย่างดี ก็มีการใช้แอปพลิเคชั่น FireD ในการนำมาใช้ และในส่วนของกระทรวงทรัพย์ฯ ก็มีแอปพลิเคชั่น BurnCheck ระบบจัดการคำขอผู้ประสงค์จัดการเชื้อเพลิง แต่ต้องนำไปปฏิบัติใช้ให้เกิดในรูปธรรมใน 17 จังหวัดภาคเหนือ เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนฝุ่นควันข้ามแดนนั้นสิ่งที่ทำได้คือการทำเรื่องร้องเรียนไปที่เลขาธิการอาเซียน โดยอธิปไตยแล้วเราคงไม่สามารถข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไปสั่งการให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้อย่างในประเทศไทย แต่ในประเทศไทยต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกัน ส่วนของต่างประเทศก็ต้องเร่งประสานไปยังเลขาธิการอาเซียน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษก็เร่งทำงานอยู่ทุกวัน